วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

นวัตกรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ

การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมัก - การทํา ปุ๋ยอินทรีย์

มาทำปุ๋ยใช้กันเถอะ

เชื่อหรือไม่ ว่าเศษอาหาร ผัก ผลไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ที่เหลือจากในครัวหรือในสวนมิได้เป็นเพียงขยะไร้ค่า หากแต่สามารถนำมาผ่านขั้นตอนกระบวนการเพื่อผลิตปุ๋ยใช้ได้ในราคาถูก นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้วยังประหยัดเงิน แถมยังทำให้ต้นไม้ในสวนเจริญเติบโตงอกงามได้ด้วยมือของคุณเอง ลองนำสูตรและเคล็ดลับดีๆจากประสบการณ์การทำปุ๋ยโดยมืออาชีพทั้ง 3 ท่านไปใช้ดู รับรองว่าไม่ยากอย่างที่คิด

ปุ๋ยหมัก
คุณภาวนา ลิกขนานนท์ นักวิชาการเกษตร 8 กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กรมวิชาการเกษตร
"การ ใช้ปุ๋ยหมักนั้นไม่ควรมุ่งหวังว่าจะทดแทนธาตุอาหารได้เช่นเดียวกับปุ๋ยเคมี หากแต่ช่วยปรับปรุงดินให้ร่วนซุย รากพืชเจริญเติบโตได้ดี ช่วยให้หาอาหารได้ง่ายขึ้น ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตตามไปด้วย"

วัตถุดิบ
1. เศษพืช เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ทั้งแห้งและสด 100 ส่วน
2. ปุ๋ยคอก 10 ส่วน
3. ปุ๋ยยูเรีย 1 ส่วน *
4. ผงซักฟอก ละลายน้ำเล็กน้อย *
* ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้

ขั้นตอน
1. เตรียมพื้นที่วางกองปุ๋ยหมัก อาจขุดหลุมลึกราว 50 เซนติเมตร หรือใช้ถังซีเมนต์ซ้อนกัน 2-3 ชั้นวางตะแกรงในชั้นที่สองเพื่อให้เหลือที่ว่างชั้นล่างสุด เจาะช่องเปิดปิดเพื่อให้นำปุ๋ยหมักออกไปใช้ได้ง่าย
2. นำเศษกิ่งไม้ใบไม้ทั้งสดและแห้งผสมคลุกเคล้าให้ทั่ว หากใบไม้แห้งเกินไปใช้ผงซักฟอกผสมน้ำเล็กน้อยเพื่อให้ใบจับกับน้ำได้ดีขึ้น ความชื้นควรอยู่ในระดับที่เมื่อลองกำดูแล้วให้ความรู้สึกมากกว่าหมาดแต่ไม่ ถึงกับปียก
3. ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยยูเรียโรยสลับกันเป็นชั้น ๆ หรือผสมคลุกเคล้ากับวัสดุแล้วใส่ในภาชนะ
4. กดกองวัสดุให้อัดตัวกันแต่ต้องไม่แน่นจนเกินไป เพื่อให้เกิดความร้อนภายในกอง หมั่นกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อให้มีการเติมอากาศเข้าไป
5. ระยะเวลาการย่อยสลายของวัสดุขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุและกระบวนการที่เกิด ขึ้น อาจอยู่ในราว 1-2 เดือน ปุ๋ยหมักที่นำไปใช้ได้จะมีลักษณะเป็นสีเข้ม เมื่อใช้มือบดสามารถขาดออกจากกันได้ง่าย มีกลิ่นคล้ายกลิ่นธรรมชาติ ไม่ฉุนหรือเหม็นรุนแรง หากทำปุ๋ยหมักในถังซีเมนต์สามารถเก็บปุ๋ยที่ร่วงลงมาจากตะแกรงไปใช้ได้ทันที

คุณสมบัติ
ปุ๋ย หมักมีคุณสมบัติเด่นในการปรับปรุงโครงสร้างดินให้ร่วนซุย ทำให้การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศในดินดีขึ้น ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำ และรักษาความชื้นในดิน รากต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้ต้นไม้ดูดน้ำและธาตุอาหารในดินได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนเร่งการทำงานของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน คุณสมบัติเด่นอีกประการคือ ช่วยยึดธาตุอาหารในดิน และปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาอย่างช้า ๆ

การใช้งาน
ใส่รองก้นหลุม หรือโรยรอบ ๆโคนต้น แล้วพรวนดินให้ผสมคลุกเคล้ากันได้ดี ปริมาณที่ใช้สามารถใส่ได้ไม่จำกัด เนื่องจากไม่มีปริมาณธาตุอาหารสูงจนเป็นพิษกับพืช หากใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีจะช่วยส่งเสริมให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

Tips
1. เปลือกถั่ว ฟางข้าว ผักตบชวา ใบไม้แห้ง หญ้า สลายตัวได้เร็ว ส่วนขี้เลื่อย แกลบ ชานอ้อยข้าวโพด สลายตัวช้า จึงไม่ควรนำทั้งสองประเภทมาหมักรวมกัน เพราะจะทำให้ได้ปุ๋ยที่ย่อยสลายไม่สม่ำเสมอ
2. ควรหมักหญ้าผสมกับวัสดุอื่น เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เพราะหากใช้หญ้าอย่างเดียวจะเกิดการอัดตัวสานไปมาของหญ้าจนไม่มีอากาศภายใน กองวัสดุ ซึ่งส่งผลต่อการเกิดจุลินทรีย์ได้

น้ำหมักฮอร์โมนพืช
คุณธนูศักดิ์ คงธรรม ข้าราชการบำนาญ
"สูตรที่ผมทำนั้นเน้นการใช้ผลไม้สดเป็นหลัก ได้น้ำหมักที่มีคุณสมบัติเป็นฮอร์โมนพืช ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตในแง่การออกดอกและติดผล"

วัตถุดิบ
1. ผลไม้สด ได้แก่ กล้วยน้ำว้า มะละกอ ฟักทอง และแครอท 5 กิโลกรัม
2. น้ำตาลอ้อย 1 กิโลกรัม
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ 500 มิลลิลิตร (ประมาณ 2 แก้วน้ำ)
4. น้ำสะอาด

ขั้นตอน
1. ล้างผลไม้ให้สะอาด จากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
2. ผสมผลไม้ น้ำตาลอ้อย และหัวเชื้อจุลินทรีย์คลุกเคล้าให้เข้ากัน
3. นำผลไม้ที่ผสมแล้วบรรจุลงในถุงตาข่าย จากนั้นนำไปวางในถังพลาสติกมีฝาปิดขนาดบรรจุ 20 ลิตร ติดก๊อกน้ำไว้ด้านล่างเพื่อให้ไขน้ำหมักออกมาใช้ได้
4. ปิดฝาถังทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จะมีน้ำไหลออกมาจากถุงตาข่าย และมีฝ้าสีขาว (หากเกิดฝ้าสีอื่นแสดงว่าการขยายเชื้อไม่ได้ผล แต่นำไปใช้รดต้นไม้ได้) เติมน้ำเพิ่มลงไป 1 เท่า กวนให้เข้ากัน ระวังอย่าให้แมลงลงไปไข่ เพราะจะทำให้เกิดหนอนได้
5. ปิดฝาทิ้งไว้ 30 วัน ระหว่างนั้นกวนเป็นครั้งคราว น้ำที่ได้จะมีสีค่อนข้างใส กลิ่นหอมอมเปรี้ยวคล้ายไวน์

คุณสมบัติ
มีรายงานผลการวิเคราะห์น้ำหมักที่ได้ว่ามีฮอร์โมนพืช ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช กระตุ้นการออกดอกและติดผล

การใช้งาน
นำ น้ำหมักที่ได้ผสมน้ำในสัดส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร ใช้ฉีดพ่นต้นไม้ในช่วงก่อนแทงช่อดอก จะทำให้เกิดจำนวนช่อดอก ติดดอกและผลดีขึ้น โดยฉีดทรงพุ่มโดยตรง หรือรดโคนต้น สามารถนำไปใช้ในการเร่งรากกิ่งตอน และกิ่งปักชำได้ ข้อควรระวังคือสัดส่วนความเข้มข้นของน้ำหมักและน้ำหากผสมมากเกินไปจะส่งผลทำ ให้ใบพืชไหม้ได้ วิธีแก้คือใช้น้ำรดซ้ำเพื่อให้เจือจางลง

Tip
ทำ หัวเชื้อจุลินทรีย์เองได้ง่าย ๆโดยนำปลือกสับปะรด 5 กิโลกรัมมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ผสมกับน้ำตาลอ้อย 1 กิโลกรัม และน้ำมะพร้าวแก่ 1 1/2 ถ้วย บรรจุลงถุงตาข่ายใส่ถังปิดฝา ประมาณ 7 วัน หากมีฝ้าขาว กลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน แสดงว่าใช้ได้ เติมน้ำตาลอ้อยและน้ำมะพร้าวเท่าเดิมลงไป แล้วเติมน้ำให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 25-30 วัน จึงนำมาใช้เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งใช้แทนหัวเชื้ออีเอ็มได้

ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ-ขยะหอม
คุณจิราภรณ์ คงธรรม อดีตพยาบาล โรงพยาบาลราชวิถี
"จุด เริ่มต้นของดิฉันคือ ต้องการลดจำนวนขยะในบ้าน ทั้งเศษผัก ผลไม้ที่เหลือจากการรับประทาน พอนำมาทำน้ำหมักใช้กับต้นไม้ก็เห็นผลด้วยตัวเองว่าต้นไม้มีการเจริญเติบโตดี จนตอนนี้กลายมาเป็นโครงการลดขยะในชุมชนที่ได้รับความสนใจจากคนในหมู่บ้านหัน มาปฏิบัติตามเช่นกันค่ะ"

วัตถุดิบ
1. เศษผักผลไม้ 3 กิโลกรัม
2. น้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์
4. น้ำสะอาด

ขั้นตอน
1. นำเศษผักผลไม้ที่มีในครัวเรือนทั้งเปลือก ใบ ผล และเมล็ด ผสมกับน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล คลุกเคล้าให้เข้ากัน หากใช้กากน้ำตาลซึ่งค่อนข้างข้นควรกวนให้เข้ากัน
2. นำใส่ถุงตาข่ายหรือถุงปุ๋ยวางลงในถังพลาสติก ปิดฝาให้เรียบร้อย
3. ประมาณ 10 วันจะได้น้ำจุลินทรีย์ซึมออกมา ให้เติมน้ำลงไป 5 เท่า ของปริมาตรน้ำจุลินทรีย์ที่ได้ กดให้จมน้ำ หากลอยขึ้นมาจะทำให้การหมักไม่สมบูรณ์ เกิดกลิ่นเหม็นได้
4. สามารถเติมขยะสดเพิ่มลงไปได้ทุกวัน น้ำที่นำไปใช้ได้จะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน ส่วนกากสามารถนำไปตากให้แห้งโรยเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ต่อไปได้

คุณสมบัติ
นอก จากมีธาตุอาหารที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับพืช ทำให้ดินร่วนซุย และพัฒนาการเจริญเติบโตของพืช

การใช้งาน
ผสมน้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร ใช้ฉีดพ่น หรือรดลงในดินสัปดาห์ละครั้ง ข้อควรระวังคือหากการหมักยังไม่สมบูรณ์ ปริมาณกรดและน้ำตาลยังสูงอยู่จะส่งผลเป็นพิษต่อพืช

Tips
1. หากผสมสมุนไพร เช่น สะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ดีปลี หรือพริกขี้หนู โดยใส่ผงสมุนไพร 2 - 5 ช้อนโต๊ะ ลงไปในส่วนผสมของขั้นตอนการหมักปุ๋ยอินทรีย์น้ำแต่แรกจะสามารถใช้เป็นสารไล่ แมลงได้ด้วย
2. สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำในการบำบัดน้ำเสีย และกำจัดคราบไขมันอุดตันในท่อ โดยใช้ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 :10 เทใส่ในท่อน้ำทิ้ง บ่อบำบัดไขมัน บ่อน้ำเสีย ทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วจึงราดน้ำตาม
3. ไม่ควรเก็บปุ๋ยอินทรีย์น้ำไว้ในที่ที่โดนแดด ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6 เดือน
4. ปุ๋ยอินทรีย์น้ำมีธาตุอาหารค่อนข้างน้อย แต่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงโครงสร้าง และคุณภาพดิน ดังนั้นจึงอาจใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีในปริมาณเล็กน้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงต้นไม้

คุณรู้หรือไม่
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ? ปุ๋ยชีวภาพ
ความ หมายของ ปุ๋ยชีวภาพ คือปุ๋ยนั้นต้องมีสิ่งมีชีวิตและทำหน้าที่สร้างธาตุอาหารให้ดิน เช่น ไรโซ เบียม (Rhizobium spp.) และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ มายคอร์ไรซา (Mycorrhiza spp.) ช่วยดูดซึมฟอสฟอรัส และแบซิลลัส (Bacillus spp.)ให้ธาตุโพแทสเซียม เป็นต้น ปุ๋ยชีวภาพควรมีข้อความระบุบนฉลากดังนี้ ชื่อจุลินทรีย์ ปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตต่อน้ำหนักปุ๋ย ชนิดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เปอร์เซ็นต์ความชื้น วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ส่วนปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือตามที่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่าน้ำหมักชีวภาพนั้น แม้จะมีจุลินทรีย์เป็นองค์ประกอบ แต่หน้าที่หลักคือย่อยสลายเศษซากพืช หรืออินทรียวัตถุในดิน ให้ปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เร็วขึ้น โดยที่ตัวมันเองมีธาตุอาหารอยู่เพียงเล็กน้อย การเรียกปุ๋ยเหล่านี้ว่า "ปุ๋ยชีวภาพ" จึงไม่ถูกต้องนัก


ที่มา http://www.baanlaesuan.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น